คัดลอกมาแบ่งปันจาก www.managerroom.com (ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ)
คุณคิดว่า คุณมีนิสัยคล้ายตัวอะไรที่สุด : หมี หนู อินทรี วัว
คนดอย เอากิจกรรมฝึก Dialogue มาอวด คือ การฝึก ย้อนเข้าไปทบทวนตนเอง สะท้อน (reflection) ด้วยการถามว่า คุณคิดว่าคุณมีลักษณะใกล้เคียงกับเป็นสัตว์แบบไหน (ไม่ให้ ดูกันที่รูปร่าง ท่าทางนะครับ)
หมี : ธาตุดิน นักคิด รอบคอบ ตรวจสอบ มีกฏเกณฑ์ ชอบควบคุม
หนู : ธาตุน้ำ นักประสาน อ่อนโยน ปรับตัวง่าย เน้นเรื่องใจ คุยเก่ง ชอบประสาน
อินทรี : ธาตุลม นักวางแผน คิดนอกกรอบ เชื่อมโยง อิสระเสรี ชอบเรื่องแปลกใหม่
วัว : ธาตุไฟ นักปฏิบัติ ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆจนงานสำเร็จลงได้ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำ
การสนทนา ครั้งนี้ มีหลายรอบ
รอบแรก จะแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม โดยให้คนที่คิดว่าตนเองเป็นแบบสัตว์ชนิดเดียวกัน อยู่ในกลุ่มสนทนาเดียวกัน
รอบที่สอง คือ ให้แต่ละวงสนทนา มี คนที่คิดว่าตนเองเป็นสัตว์ต่างๆอยู่ปนกัน พยายามให้ครบทั้ง ๔ ชนิดในแต่ละกลุ่ม และ ก็พูดทีละคนเช่นเดิม ว่าทำไมคิดตนเป็นแบบสัตว์นั้นๆ
รอบสาม จะล้อมเป็นวงใหญ่ วงเดียวกันทั้งห้อง ทำ AAR เพื่อ สะท้อนสิ่งที่ค้นพบ (Findings) และ ความรู้สึก (Feelings) จากสนทนาทั้งสองรอบที่ผ่านมา
ผมว่าหลายท่าน อาจจะเคยผ่านกิจกรรมนี้ เพราะ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ พอเอาหลักการ ฟังเชิงลึกไปใช้ คือ ตอนที่แต่ละท่านในวงสนทนากลุ่ม ได้พูด ได้สะท้อนทีละคน (จับแท่ง Indian stick) ถึงว่า ทำไมเขาคิดว่าเขามีลักษณะนิสัยคล้ายสัตว์แบบนั้น ช่วงนี้แหละสำคัญมาก ซึ่งความสำคัญนี้ อยู่ที่ การฟังครับ ไม่ใช่การพูด ผู้ฟังที่ฝึกตามดูจิต ตามดูความคิดเป็น จะเห็น จะรู้เท่าทัน “เสียงภายใน” ที่ผุดขึ้นมา ทั้งคล้อยตาม ทั้งย้อนมาดูตนเอง เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ทั้งต่อต้าน ทั้งคันปากอยากจะเสริม อยากจะค้าน ฯลฯ
การทำ Dialogue ในมุมมองของผม คือ การฝึกดูจิต ตามแนว มหาสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
ฟังอย่างมีสติ เอาสติไปฟัง อย่าปล่อยให้ความคิดมีอิทธิพลทำให้จิตเกิดอาการ และ ในทางกลับกันอย่าปล่อยให้จิตที่เกิดอาการแล้วผลิตความคิดที่ไม่ มีประโยชน์ออกมา เช่น วิตก กังวล วิพากษ์ วิจารณ์ อคติ ลำเอียง เพ่งโทษ ยินดี ฯลฯ
การเงียบฟัง ข่มตนเองไม่ให้สอดแทรก แต่ จิตกำลังเกิดอาการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศลก็ตาม จิตที่เกิดอาการนี้กำลังไปทำให้มีความคิดแบบปรุงแต่ง อคติ เพ่งโทษ ดูหมิ่น ยินดี ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย แม้นภายนอก จะดูเป็น คนๆนี้เป็นนักฟังที่ดี แต่ ภายในร้อนรุ่ม ดำมืด หรือ ปลาบปลื้ม แบบนี้ ก็ไม่เรียกการสนทนานี้ว่าเป็น Dialogue ครับ
ส่วนใหญ่จะทนไม่ได้ เผลอสอดแทรก เกิด “ตัวอยาก” “ตัวไม่อยาก” ผุดขึ้นมา แต่ รู้ไม่ทัน หรือ รู้ทัน แต่ อดไม่ได้ ข่มไม่ได้
คุณภาพ หรือ ประสิทธิผล ในการสนทนา จึงอยู่ที่ ฟังอย่างมีสติหรือไม่ ถ้ามีสติจริง จิตจะว่างๆ เบาๆ สบายๆ ไม่มีความคิดอคติ ไม่มีลำเอียง ไม่มีวิตก กังวล ไม่มีวิพากษ์ วิจารณ์
การฟังอย่างเชิงลึก ในมุมมองของผม คือ มีสติ จิตปกติ ลมหายใจสบายๆ กล้ามเนื้อสบายๆ หรือ จะใช้คำว่า “ตื่นรู้” ก็ได้ คือ รู้เท่าทันจิต รู้เท่าทันความคิด
รู้เท่าทันในที่นี้ คือ รู้แล้ว “วาง”ได้ ทำจิตให้ว่างๆได้ นั่นเอง ไม่ใช่ ตื่นรู้ แต่ ข่มไม่ลง วางไม่ได้ และ หมดเวลาไปกับการข่ม จนลืมฟังว่าเขาพูดอะไร
การฝึกสนทนาแบบ Dialogue นี้ สามารถช่วยให้ เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า “จิต กับ ความคิด” เขาทำงานร่วมกันอย่างไร แล้วเราจะแยกแยะเขาออกจากกันได้อย่างไร
ผมใช้คำว่าแยกแยะ ไม่ใช่ แยกขาดนะครับ อุปมา เชือกเกลียว ถ้าเรามองดูไกล เราจะเห็นว่าเป็นเส้นเชือกเส้นเดียว แต่ ถ้าดูให้ดีๆ จะพบว่า มีสามเส้นครับ คือ จิต สติ ความคิด
ใครแยกแยะ “จิต - สติ - ความคิด” ได้ ก็ จะค้นพบ สัมมาทิฏฐิ ทันที เมื่อสัมมาทิฏฐิเปิดออกแล้ว สัมมาอื่นๆ ในมรรคมีองค์แปด จะไหลตามมาได้โดยง่าย
คำว่าแยกจิต สติ ความคิดนี้ ไม่ใช่ แยกจิต แบบ นักนั้งสมาธิ แยกจิตออกจากร่าง จิตออกไปเที่ยวนรก สวรรค์ที่ไหนนะครับ แต่ เป็นแยกแยะ รู้ เข้าใจ ว่า “จิต และ ความคิด” ทำงาน และ สัมพันธ์กันอย่างไร
หลังการทำกิจกรรม Dialogue นี้แล้ว ผมก็ค้นพบเอาเองว่า
สัตว์ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นตัวแทน ของ หน้าต่างทั้ง ๔ บาน ในวงจรโนนากะ (คุย คิด คลิก คลำ) โดย
· หนู คือ การ “คุย” การเข้าสังคม การพูดคุย การเปิดหู เปิดตา เปิดความคิด เปิดใจ เก็บความต้องการ โทษตนเอง รักพวกพ้อง เน้นความสัมพันธ์
· หมี คือ การ “คิด” การพิจารณาใคร่ครวญ การตรวจสอบ การเชื่อมโยงกับความรู้เดิม การรอบคอบต่อข้อมูลใหม่ รอบคอบ เน้นความถูกต้อง เปลี่ยนแปลงช้า
· อินทรี คือ การ “คลิก” การตกผลึกความคิด การเกิดความเชื่อส่วนตัวที่รอการพิสูจน์ เกิดเป็นวิสัยทัศน์ มองภาพรวม มองภาพไปข้างหน้า โครงการที่จะต้องเกิดขึ้น ชอบเรื่องประหลาดใจ รักอิสระ
· วัว คือ การ “คลำ” การลงมือทำ การเปิดแรงบันดาลใจ (Open will) ที่จะทำ เพื่อยืนยัน พิสูจน์ ทำวิสัยทัศน์ให้เป็นจริง กัดไม่ปล่อย
ผมเชื่อว่า ถ้าเราสามารถผลักดันตัวเรา ผลักดันผู้เรียน ให้หมุนวนไปตาม วงจรโนนากะ เป็นสัตว์ทั้ง ๔ ชนิดได้ครับบ่อยๆ หลายๆรอบ เราจะได้ความรู้มากมาย ทั้ง tacit และ explicit
เมื่อทำ AAR แต่ละคนในกลุ่มให้ แนวคิดแตกต่างกัน เช่น
· พวกฝ่ายบุคคล จริงๆแล้ว ควรจะเป็นหนู แต่ เอาเข้าจริง กลายเป็น หมี หมีไม่ดีสะด้วย
· แผนกต่างๆ ทำตัวแบบสัตว์ต่างๆ แบ่งแยกกัน ไม่คุยกันดีๆ จึงทำให้องค์กรขาดพลังในการขับเคลื่อนสิ่งดีๆต่างๆออกมา
· คนเราถูก สภาพแวดล้อม สังคม การเลี้ยงดู สถานศึกษา สถาบัน เพื่อนฝูงที่คบ ฯลฯ ตลอดจนลักษณะทางกรรมพันธุ์ รวมไปถึง กรรมเวรและ ดวงชะตา ทำให้ออกมาเป็นลักษณะแบบนั้นๆ ถูกหล่อหลวมออกมา จน ไม่เป็นตัวตนที่แท้จริง สวมบทบาทนั้นๆโดยไม่รู้ตัว จนยากจะถอดออก
· ส่วนใหญ่ ค้นพบตรงกันว่า ในองค์กร ควรมีสัตว์ทั้ง ๔ ผสมๆ กันไป
· บางคนเป็นสัตว์นั้นๆ เพราะ จำใจ โดนบริบท กระบวนการ เหตุการณ์ต่างๆ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ลากไป ดึงไป จนกลายเป็นหมี ทั้งๆ ไม่ใช่ สัตว์แบบนั้น เรียกว่า “ทิ้งไพ่ดี” ออกไป
· บางคนถูกคนอื่นมองว่าเป็นสัตว์ตัวนั้น แต่ ตนเองก็ยังนึกว่าเป็นอีกตัวหนึ่ง เช่น ผู้บริหารหลายคนคิดว่าเองเป็น อินทรี แต่ จริงแล้ว เพื่อนๆ ฟันธงว่าเป็นหมี และ เขาก็ไม่รู้ตัว จนถึงเถียงขาดใจว่า ฉันเป็น “อินทรี”
· ในผู้บริหารบางท่าน ท่านนึกว่าท่านเป็นหนู แต่ ลูกน้องมองว่าเป็นอินทรี อันนี้ก็เพราะ เจอกันในบทบาทที่ต้องประชุมกัน ทำงานด้วยกัน แต่ ลึกๆแล้ว ท่านเป็นหนู ที่ อยากคบกับลูกน้อง แต่ ลูกน้องกลับมองเป็นอินทรี
· หลายคนบอกว่า ควรแบ่งเป็น สัตว์ที่มีลักษณะดี และ ไม่ดี หนูไม่ดี คือ เอาตัวรอด ไม่ขยัน อินทรีไม่ดี คือ ไม่ติดดิน วัวไม่ดี คือ ดื้อ หมีไม่ดี คือ ขี้กังวล
· บางคนบอกว่า ให้ยอมรับความแตกต่าง จะดีจะเลว ไม่ตัดสินกันดีกว่า ให้แก้ไขที่ตนเองจะดีที่สุด
· บางคนเป็นหมอดู เสนอว่า ยังกะ ราศีเลย พวกดิน คือ ราศีมังกร พฤษภ กันย์ พวกลม คือ กุมภ์ มิถุน ตุลย์ พวกน้ำ คือ มีน กรกฏ พฤศจิก พวก ธาตุไฟ คือ วัว เป็นเมษ สิงห์ ธนู
· หลายคน เลือกว่าเป็นสัตว์แบบไหน ด้วยความอยากจะเป็น ไม่ได้ดูตามความเป็นจริง ว่าเป็นตัวอะไรกันแน่
· หลายคน พูดออกมา จนดูแล้วว่าเป็นสัตว์นั้นๆ แต่ พฤติกรรมตรงกันข้าม เราจึงพิจารณาจากคำพูดของเขาไม่ได้เลย
· บางคน มีหลายๆสัตว์ผสมๆกัน เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ตามเหตุผล ตามหน้าที่
· ในฐานะ คุณเอื้อ คุณอำนวย เราควรหาโอกาส หาเวที สนับสนุนให้ ในตัวของผู้เรียนทุกคน แต่ละคน เปลี่ยนโหมดให้ครบ ไหลวนไปตามวงจรโนนากะ
หลังการสนทนา พวกเรา ก็เลย ทำ โหวต แบบลงคะแนนลับ ว่า พวกเราทั้งห้อง เราคิดว่า ใคร เป็น หนูมากที่สุด วัวมากที่สุด อินทรีมากที่สุด และ หมีมากที่สุด
ผลออกมา บางคนในกลุ่ม เข้าใจตนเองว่าเป็นอินทรี แต่ เพื่อนทั้งห้องโหวตว่าเป็นหนู บางคน เถียงว่าตนเอง เป็นอินทรี แต่ ทั้งห้อง ยืนยันว่า หมีชัดๆ
สุดท้าย เป้าหมายของกิจกรรมนี้ อยู่ที่ หัดฟังเชิงลึกครับ ส่วนการเป็นสัตว์แบบไหนเป็นแค่ของแถม
--- woraphat - 22 ก.ย. 2007 เวลา 20:41
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น